วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มาตรา112


มาตรา 112 – ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
ซึ่งประเด็นนี้เมื่อคุณได้อ่าน ก็จะพบว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งครับ ผมจึงอยากให้ทุกท่านได้รู้ข้อกฎหมายนี้ก่อน เพื่อที่จะไม่เผลอกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามครับ
หากท่านต้องการที่จะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมาตรานี้เพิ่มเติม ผมขอแนะนำบทความด้านล่างนี้ลงไปครับ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับแง่มุมในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวครับ

*****************************************************
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า    โดยเนื้อหาแล้วก็เหมือน กับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กล่าวคือ การจะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ใช้นิยามเดียวกัน คือ “การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย” จะมีส่วนที่แตกต่างกันเพียงสามประการ  คือ
1.  หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีโทษหนักกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
2.  หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่อาจนำเหตุให้กระทำการได้ตามมาตรา 329  และมาตรา 330มาอ้างได้  และ
3.  ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
บุคคลที่มาตรา 112  ประสงค์จะคุ้มครอง คือ พระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามมาตรา 326 นั้น  เป็นความผิดเกี่ยวด้วยเสรีภาพและชื่อเสียง ซึ่งมุ่งคุ้มครองบุคคลธรรมดา
กล่าวโดยสรุปปัจจุบันนี้ไม่มีข้อหาทางอาญา ฐาน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีแต่ข้อหา “หมิ่นประมาท  ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในบทบัญญัติของลักษณะ 1  ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1  ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แต่การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์  พระราชินี รัชทายาท  หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ  ทั้งนี้ เนื่องจากตามมาตรา 112  มุ่งคุ้มครองบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้เป็นอุปกรณ์ในสถาบันดังกล่าว ได้แก่
1.     พระมหากษัตริย์ (The King) หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต  มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้
2.     พระราชินี (The Queen) หมายถึง สมเด็จพระมเหสีที่เป็นใหญ่กว่าพระราชชายาทั้งหลาย ซึ่งมีเพียงพระองค์เดียวได้ผ่านการอภิเษกสมรส โดยเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิดไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม
3.  รัชทายาท (The Crown Prince) บางครั้งเรียกว่า “มกุฎราชกุมาร” หมายถึง พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ และจะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามนัยที่ตราไว้ใน
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467
               4.  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (The Regent) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์ เป็นการชั่วคราว ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ         
           การกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้ คือ
(1)  หมิ่นประมาท (Defamation) หมิ่นประมาท ตามมาตรา 112 มีความหมายเดียวกับ หมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา 326[1] กล่าวคือ เป็นการใส่ความบุคคลตามมาตรา 112 ต่อบุคคล      ที่สาม (คือ ยืนยันข้อเท็จจริง โดยไม่ว่าจะเท็จ หรือจะจริง ก็เป็นการใส่ความทั้งนั้น) โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลตามมาตรา 112 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหาย  ก็ถือว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วตามมาตรานี้ได้
โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา 329[2] มาอ้างว่า
ตนกระทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสีย  เกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม นอกจากนี้ ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา 330[3]  หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่ข้อที่เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความ ในเรื่อส่วนตัวและการพิสูจน์ไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกา ที่ 51/2503 ยืนยันว่าเหตุให้หมิ่นประมาทได้ตามมาตรา 329   และเหตุยกเว้นโทษ  ตามมาตรา 330 ไม่นำมาใช้บังคับกรณีพระมหากษัตริย์  เพราะพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะมีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ  ดังนั้น หากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และจะอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย และ ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย ได้อธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 112 นั้น เป็นความผิดที่เคยบัญญัติไว้โดยคำนึงถึงนสถานะทางบุคคลที่ถูกกระทำโดยเฉพาะ ฉะนั้น บทบัญญัติมาตรา 329 และมาตรา 330 – มาตรา 331 ย่อมนำมาใช้กับความผิดตามมาตรา 112 นี้ไม่ได้
(2)  ดูหมิ่น (Insult) ได้แก่ การกระทำความผิดตามมาตรา 393[4]  แต่ไม่จำต้องกระทำซึ่งหน้าหรือ   ด้วยการโฆษณา แม้กระทำลับหลังก็เป็นความผิดได้ กล่าวคือ เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยามหรือแสดงกิริยาอาการเหยียดหยาม เช่น ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือ กล่าวต่อบุคคลนั้นด้วยคำสามัญ แต่มีความหมายเป็นการดูหมิ่น, ด่าว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน, ด่าบิดามารดา, ถ่มน้ำลายรด, ยกส้นเท้าให้ เป็นต้น   ถ้าไม่มีการกล่าวต่อบุคคลที่สามย่อมเป็นผิดฐานดูหมิ่น และถ้าเข้าลักษณะการดูหมิ่นแล้ว แม้จะกล่าวดูหมิ่นต่อบุคคลที่สามก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ เพราะการดูหมิ่นไม่ใช่การกล่าวใส่ความตามมาตรา 326(9)
(3) แสดงความอาฆาตมาดร้าย (Threaten)  ได้แก่  การแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจา  หรือโดย วิธีการใดๆ ด้วยความพยาบาทมาดร้ายว่า จะทำให้เสียหายในทางใดๆ อันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม (หรือสิทธิตามกฎหมาย) ถือว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น โดยต้องเป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต และไม่จำเป็นต้องได้โกรธแค้นเคืองกันมาก่อน เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์  จะทำร้าย หรือจะกระทำให้เกิดภยันตรายต่อสิทธิเสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณก็ตามอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ โดยขู่ หรือแสดงออก มุ่งต่อพระมหากษัตริย์
พระราชินี  รัชทายาท  หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

องค์ประกอบความผิดในส่วน “เจตนา”

                ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าว กล่าวคือ มีเจตนาหมิ่นประมาท, เจตนาดูหมิ่น หรือเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยรู้ว่าผู้ที่กระทำต่อนั้นเป็นบุคคลตามมาตรา 112   กล่าวคือ โดยผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงถึงสถานภาพของบุคคลดังกล่าว และประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของตน หากเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงก็รับโทษเท่ากับการกระทำต่อบุคคลธรรมดา
พิจารณาตัวอย่างแนวทางการพิเคราะห์เจตนาหมิ่นประมาทฯ ของศาลฎีกา ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531 จำเลยกล่าวว่า “ถ้าเลือกเกิดได้จะเกิดใจกลางเมืองพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้า  วีระ ไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกที ก็บ่ายสามโมง  พอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ” นั้น เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ฯลฯ พยานทุกปากประกอบด้วยบุคคลจากหลายท้องถิ่นและหลายสาขาอาชีพ ทั้งราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ครู อาจารย์ ทนายความ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนา ล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยกล่าวหาใส่ความว่าทั้งสามพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบายไม่ต้องปฏิบัติภารกิจใดๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา อันแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
กล่าวโดยสรุป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์   คุ้มครองบุคคลตามมาตรานี้ซึ่งได้แก่ พระมหากษัตริย์  พระราชินี รัชทายาท  หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการอันตัดสิทธิในทางวิจารณ์โดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่         จะกล่าวถึงยังต้องระมัดระวัง ซึ่งการกำหนดดังกล่าวนั้น เข้าใจว่าเป็นผลจากการที่รัฐธรรมนูญแทบ       ทุกฉบับที่บัญญัติรับรองว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้…” [5]  นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 68 วรรคหนึ่ง “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้”  มาตรา 70 “บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”  มาตรา 77 “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ”


[1] มาตรา 326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน
สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[2] มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่อง การดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
[3] มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
[4] มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก